วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

การเลี้ยงลูกโคแรกเกิดถึงหย่านม

การจัดการเลี้ยงดู
เมื่อลูกโคคลอดควรให้ความช่วยเหลือโดยเช็ดตัวให้แห้ง จัดการเอาน้ำเมือกบริเวณปากและจมูกออกให้หมด จับขาหลังยกให้ลูกโคห้อยหัวลงตบลำตัวเบาๆ จนลูกโคร้อง หากลูกโคหายใจไม่สะดวกอาจต้องช่วยหายใจด้วยการเป่าปาก เมื่อลูกโคยืนได้ ให้ใช้ด้ายผูกสายสะดือให้ห่างจากพื้นท้องประมาณ 3 - 6 ซ.ม. ใช้กรรไกรที่สะอาดตัดแล้วใช้ยาทิงเจอร์ไอโอดีนชุบสายสะดือไม่ควรปล่อยให้แม่และลูกโคไปตามฝูง ควรจัดหาอาหารและน้ำดื่มกักไว้แยกต่างหากจากฝูงจนกว่าลูกโคจะแข็งแรงดีแล้วจึงปล่อยตามฝูง
การคลอด
ก่อนคลอด 1 สัปดาห์ ควรแยกแม่โคให้อยู่ในคอกที่สะอาด มีฟางหรือหญ้าแห้งรอง หรือให้อยู่ในแปลงหญ้าที่สะอาดสามารถดูแลได้ง่าย ปกติแม่โคจะตั้งท้องเฉลี่ย 282 วัน (274-291 วัน) ถ้าเลยกำหนดคลอดแล้ว 10 วัน และแม่โคยังไม่คลอดต้องสังเกตและดูแลอย่างใกล้ชิด
การปฏิบัติเลี้ยงดูลูกโคอื่นๆ ควรทำดังนี้
1.ฝูงที่มีโคจำนวนมากคนเลี้ยงอาจจำโคได้ไม่หมดจึงควรติดเบอร์หูหรือทำเครื่องหมายลูกโคโดยเร็วที่สุด ซึ่งจะมีประโยชน์ในการจัดทำประวัติโคในฝูงปรับปรุงพันธุ์ควรชั่งน้ำหนักแรกเกิดภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
2.เมื่อลูกโคอายุ 3 สัปดาห์ ควรถ่ายพยาธิตัวกลม และถ่ายซ้ำอีกเมื่ออายุ 6 สัปดาห์ ทั้งนี้อาจสุ่มหาไข่พยาธิดูก่อนก็ได้
3.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแท้งติดต่อ (บรูเซลโลซีส) แก่ลูกโคเพศเมีย อายุ 3 - 8 เดือน แล้วเจาะรูที่หูข้างขวาของโค 2 รู
                - เมื่อลูกโคอายุ 3 - 8 เดือน ทำการฉีดวัคซีนโรคแท้งให้กับลูกโคเพศเมียทุกตัว
                - เมื่อลูกโคอายุ 4 เดือน ทำการฉีดวัคซีนโรคปากและเท้าเปื่อย

การให้อาหารข้นเสริมแก่ลูกโคเล็ก (creep feed)

ลูกโคจะเริ่มหัดกินหญ้าและอาหารเมื่ออายุประมาณ 2 - 3 เดือน เนื่องจากแม่โคจะให้นมได้สูงสุดในระยะนี้ หลังจากนี้จะเริ่มผลิตน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกโคลดลงเรื่อยๆ ในขณะที่ลูกโคเติบโตขึ้นทุกวัน ลูกโคจึงจำเป็นต้องกินอาหารอื่นทดแทน ลูกโคที่กินหญ้าและอาหารได้เร็วก็จะเติบโตได้เต็มที่ การให้อาหารข้นเสริมจะทำให้ลูกโคโตเร็วขึ้น มีน้ำหนักหย่านมสูงกว่าเมื่อไม่ได้ให้อาหาร
ลูกโคอายุต่ำกว่า 3 เดือน ให้กินอาหารได้เต็มที่ แต่ถ้าอายุมากกว่า 3 เดือน ควรเพิ่มอาหารให้ทีละน้อยและค่อยๆ เพิ่มขึ้นหลังจากที่ลูกโคทุกตัวเริ่มกินอาหาร แต่ถ้าลูกโคมีขนาดต่างกัน อาจจำเป็นต้องแยกกลุ่มลูกโคตามขนาด
ที่ให้อาหารลูกโคควรอยู่ใกล้กับบริเวณคอกแม่โคอยู่เพื่อที่ลูกโคจะได้เข้าไปลองกินอาหารได้สะดวก โดยทำช่องให้ลูกโคลอดเข้าไปกินอาหารได้กว้างประมาณ 400 - 450 มม. พื้นที่บริเวณให้อาหารประมาณ 30 ซ.ม./3 ตัว ให้อาหารข้นโปรตีนมากกว่า 20% ให้กินตัวละประมาณ 600 - 800 กรัม


การทำลายเขาโค
การมีเขาของโคไม่ได้มีผลดีทางเศรษฐกิจและอาจทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น
1.เกิดอันตรายต่อผู้เลี้ยงและผู้ที่เกี่ยวข้อง
2.โคมักขวิดกันเอง ทำให้เกิดบาดแผล เสียค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการรักษา
3.โคบางตัวอาจมีเขายาวโง้งเข้ามาทิ่มแทงใบหน้าหรือตาตนเองได้
4.อาจเกิดอุบัติเหตุเขาเข้าไปติดหรือขัดกับคอก อาจทำให้ถึงตายได้
5.โคบางตัวเขากางออก ทำให้สิ้นเปลืองเนื้อที่รางอาหาร คอก และการขนส่ง
การทำลายเขาโคยิ่งทำเมื่ออายุน้อยเท่าใดก็ยิ่งดี เพราะจะลดความเจ็บปวดจากบาดแผลที่เกิดขึ้น การจับยึดก็ทำได้ง่าย การทำลายเขาลูกโคมีวิธีการต่างๆ เช่น
  1. ใช้สารเคมี
   ส่วนใหญ่ใช้โซดาไฟ อาจใช้แบบแห้งที่มีรูปแบบเหมือนชอล์คเขียนกระดาน หรือใช้แบบของเหลวข้นคล้ายยาสีฟันก็ได้ ควรทำเมื่อลูกโคอายุไม่เกิน 10 วัน ตัดขนบริเวณรอบๆ ปุ่มเขาออก ใช้ขี้ผึ้งหรือจารบีทารอบๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โซดาไฟไหลเยิ้มไปถูกบริเวณอื่น ทาเป็นวงกว้างๆ ถ้าเป็นโซดาไฟชนิดแห้งต้อทำให้ปุ่มเขาชื้นเล็กน้อยแล้วเอาแท่งโซดาไฟถูบริเวณปุ่มเขาจนมีเลือดซึมเล็กน้อย ใช้เวลาประมาณ 15 วินาที ถ้าเป็นโซดาไฟชนิดเหลวข้นต้องขูดปุ่มเขาเล็กน้อยให้เป็นรอยเพื่อเอาไขมันที่ปกคลุมอยู่ออก แล้วเอาโซดาไฟเหลวทาบนปุ่มเขา ในพื้นบ้านใช้ปูนแดงกับสบู่กรดในปริมาณเท่าๆ กัน กวนผสมน้ำจนเหลวคล้ายยาสีฟัน ใช้แทนโซดาไฟเหลว แยกลูกโคออกจากแม่อย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เพื่อไม่ให้แม่เลียออก
หลังจากทาแล้ว 2 - 3 วัน ปุ่มเขาจะเกิดสะเก็ดหนา ภายใน 10 วัน สะเก็ดจะหลุดออกไม่มีแผลเปิด แต่ถ้าใช้สารเคมีมากเกินไปหรือถูแท่งโซดาไฟแรงเกินไป หรือสะเก็ดขูดลอกออกก็อาจมีแผลได้ ให้ทำการรักษาแผล
 2. ใช้ความร้อนทำลาย
ทำได้กับลูกโคที่อายุประมาณ 3 สัปดาห์ จนถึง 3 เดือน ใช้เหล็กหรือวัสดุที่ประดิษฐ์เป็นรูปทรงกระบอก ตรงปลายบุ๋มโค้งเข้าเพื่อให้ครอบสนิทกับปุ่มเขา จับลูกโคให้มั่นแล้วตัดขนบริเวณปุ่มเขา นำที่จี้เขาไปเผาไฟจนร้อนจัดแล้วนำมาจี้โดยหมุนวนไปเรื่อยๆ ปุ่มเขาที่โผล่ขึ้นมาเล็กน้อย แต่ไม่กดเช่นเดียวกับการตีเบอร์ ใช้เวลาประมาณ 3 วินาทีขึ้นอยู่กับปุ่มเขา หากเป็นเขาที่งอกออกมาหนาแล้ว ควรใช้มีดคมๆ ปาดออกก่อนแล้วจึงจี้ซ้ำอีกครั้งจึงจะทำลายปุ่มเขาได้สำเร็จ เสร็จแล้วใช้น้ำมันมะพร้าวชะโลมที่แผล

เครื่องมือตามภาพ เป็นแบบเหล็กใช้เผาไฟ ด้านบนเป็นเครื่องจี้เขาไฟฟ้า เมื่อจะนำไปเสียบปลั๊กไฟให้ตอนปลายร้อนแดงแทนการเผาไฟ

การตอนโค
ลูกโคตัวผู้ที่ไม่ต้องการใช้หรือขายทำพันธุ์ หรือเพื่อใช้ทำงาน ควรตอนเมื่ออายุประมาณ 5 - 6 เดือน โคตัวผู้ที่ต้องการใช้ทำงานควรตอนเมื่ออายุประมาณ 3 - 4 ปี เพื่อให้กล้ามเนื้อส่วนหน้าของร่างกายโคได้พัฒนาตามลักษณะของโคตัวผู้อย่างเต็มที่ก่อน กล้ามเนื้อส่วนหน้าจะทำให้โคทำงานได้แข็งแรง
         การตอนสามารถทำได้โดยการทุบแบบพื้นบ้าน การผ่าเอาลูกอัณฑะออก แต่วิธีที่ปลอดภัยคือ การตอนโดยใช้คีม ที่เรียกว่า "เบอร์ดิซโซ่ (Burdizzo) โดยใช้คีมหนีบให้ท่อนำน้ำเชื้อเหนือลูกอัณฑ์อุดตัน
การหย่านมลูกโค
หย่านมโดยแยกลูกโคจากแม่ นำไปขังในคอกที่แข็งแรง ควรให้แม่โคอยู่ในแปลงหญ้าหรือคอกที่มีรั้วกั้นซึ่งอยู่ใกล้กันเป็นเวลา 3 - 5 วัน เพราะหากให้ไปอยู่ไกลแม่โคส่วนหนึ่งจะแหกรั้วหรือคอกมาหาลูก หลังจาก 3 - 5 วัน แม่โคจะเริ่มยอมรับสภาพและค่อยๆ ห่างไปจนสามารถต้อนไปแปลงหรือคอกที่ห่างไกลได้
ขังลูกไว้ในคอกประมาณ 7 - 10 วัน โดยให้กินอาหารข้นและอาหารหยาบอย่างเต็มที่ คอกลูกโคหย่านมจะต้องอยู่ห่างจากคอกแม่พันธุ์ ระยะนี้เป็นการฝึกให้ลูกโคคุ้นเคยกับการให้อาหาร แร่ธาตุ การเข้าคอกคัด การพ่นเห็บหรือซองต่างๆ การไล่ต้อน ซึ่งจะมีความสำคัญในการให้ประสบการณ์แก่โคไปตลอดที่สำคัญก็คือ ควรเลี้ยงในแปลงหญ้าหรือคอกที่มีความมั่นคงแข็งแรงไม่ให้ลูกโคหนีได้ หากลูกโคสามารถหนีได้จะติดนิสัยไปตลอด
การตีเบอร์
การติดเบอร์หูลูกโคอาจหลุดหายได้ ดังนั้นเมื่อหย่านมช่วงที่แยกไว้ควรทำเครื่องหมายถาวรโดยตีเบอร์โคที่ตะโพก ส่วนใหญ่จะตีที่ด้านซ้ายของโค การตีเบอร์มีแบบการตีเบอร์ร้อนและเบอร์เย็น การตีเบอร์ร้อนทำได้โดยนำเหล็กตีเบอร์เผาไฟแล้วนำมาประทับบนตัวโค การตีเบอร์เย็นใช้เหล็กตีเบอร์แช่ในน้ำแข็งแห้ง (dry ice) แทน ส่วนใหญ่ใช้การตีเบอร์ร้อนเพราะทำได้ง่ายและไม่เปลืองค่าใช้จ่าย
การตีเบอร์ร้อนทำโดย จับโคบังคับให้อยู่กับที่ อาจล้มมัดขาทั้ง 4 ให้แน่ หรืออาจทำในซองบังคับโค เผาเหล็กตีเบอร์ให้ร้อนจัด ประทับเบอร์ลงบนผิวหนังโคโดยนาบไว้ประมาณ 2 - 3 วินาที อย่าใช้แรงกดเบอร์ลงไป เพราะความร้อนจะกระจาย ทำให้เนื้อบริเวณนั้นสุก จะเกิดการอักเสบเป็นแผลเน่าได้ เสร็จแล้วใช้ยาเหลืองทา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น