วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

อาหารและการจัดการโคเนื้อ

อาหารหยาบ
โคเป็นสัตว์ที่ธรรมชาติสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์จากอาหารหยาบเป็นหลัก ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลียว่า การเลี้ยงโคเนื้อและโคนมที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ต้นทุนต่ำต้องเลี้ยงด้วยอาหารหยาบเป็นหลัก ควรเก็บอาหารข้นให้สัตว์ที่ใช้ประโยชน์จากอาหารหยาบไม่ได้และสามารถใช้อาหารข้นให้เป็นเนื้อได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าซึ่งได้แก่ สัตว์ปีกและสุกร จะดีกว่า ดังนั้นการเลี้ยงโคเนื้อควรให้อาหารหยาบเป็นหลัก ให้อาหารข้นเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น
อาหารหยาบที่สำคัญสำหรับโคคือหญ้าสด พันธุ์หญ้าที่กรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วไปปลูกเลี้ยงสัตว์ เช่น หญ้ารูซี่ กินรีสีม่วง หญ้าขน แพงโกล่า เฮมิด ฯลฯ ในฤดูฝนมักมีหญ้าสดเกินความต้องการของโค จึงควรถนอมไว้เป็นอาหารสัตว์ในฤดูแล้งโดยการทำหญ้าแห้งหรือหญ้าหมัก
นอกจากหญ้าแล้ว พืชตระกูลถั่ว ยังเป็นพืชอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง เนื่องจากถั่วส่วนใหญ่มีระบบรากลึกกว่าหญ้าจึงทนแล้งได้ดีกว่า พืชตระกูลถั่วที่กรมปศุสัตว์แนะนำให้ปลูก เช่น ถั่วฮามาต้า แกรมสไตโล คาวาลเคด เซนโตรซีมา ซีราโตร กระถิน แคฝรั่ง ไมยราบ ฯลฯ
วัสดุพลอยได้จากการปลูกพืชสามารถนำมาใช้เลี้ยงโคได้ เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด ยอดอ้อย มันสำปะหลัง ต้นถั่วลิสง ต้นถั่วเหลือง ฯลฯ ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมการเกษตรก็สามารถนำมาใช้ได้ เช่น กากน้ำตาล เปลือกสับปะรด เป็นต้น


อาหารข้น
อาหารข้น หมายถึง อาหารที่มีความเข้มข้นทางโภชนะอยู่สูง โดยเฉพาะโปรตีน มีเปอร์เซนต์เยื่อใยต่ำ เมื่อสัตว์กินเข้าไปสามารถย่อยได้ง่าย จำแนกเป็น
 1) อาหารชนิดเดียว เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพดบด กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากปาล์ม ฯลฯ
2) อาหารข้นสำเร็จรูป ใช้เลี้ยงเสริมกับอาหารหยาบ สามารถนำมาใช้เลี้ยงโคได้เลยโดยผู้เลี้ยงไม่ต้องนำวัตถุดิบอย่างอื่นมาผสมอีก อาจอยู่ในรูปอาหารผงหรืออัดเม็ดก็ได้ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยรำ ปลายข้าว หรือข้าวโพดบด กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสงหรือกากปาล์ม ปลาป่น ใบกระถินป่น ไวตามิน และแร่ธาตุ
3) หัวอาหาร เป็นอาหารที่ประกอบด้วยอาหารโปรตีนสูงผสมกัน เช่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ปลาป่น ใบกระถินป่น ไวตามิน และเกลือแร่ เมื่อจะใช้ผู้เลี้ยงจะต้องนำวัตถุดิบอย่างอื่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ให้พลังงานสูงที่สามารถหาง่ายในท้องถิ่นมาผสมตามสัดส่วนที่ผู้ผลติหัวอาหารกำหนดไว้จึงจะได้คุณค่าทางอาหารตามที่ต้องการ วัตถุดิบที่ต้องนำมาผสม เช่น รำ ปลายข้าว ข้าวโพดบด ฯลฯ
4) อาหารสำเร็จรูป "ที เอ็ม อาร์ (TMR หรือ total mixed ration)" เป็นอาหารผสมระหว่างอาหารหยาบและอาหารข้น สามารถนำไปใช้เลี้ยงโคได้เลยโดยไม่ต้องให้อาหารหยาบอีก เช่น หญ้าสด เหมาะสำหรับฟาร์มที่หาอาหารหยาบได้ยาก
การให้อาหารข้นเสริมจะทำให้โคลดการกินหญ้าลง นอกจากเมื่อขาดแคลนหญ้าหรือหญ้ามีโปรตีนต่ำเท่านั้นจึงควรให้อาหารข้น เมื่อเริ่มให้อาหารข้นอาจมีโคบางตัวยังไม่ยอมกินอาหารข้น ควรจะให้แน่ใจว่าโคทุกตัวกินอาหารข้นแล้วจึงค่อยเพิ่มอาหาร ถ้าให้อาหารข้นมากไปจะทำให้โคย่อยอาหารหยาบได้น้อยลง
โดยทั่วไปไม่ควรให้กินเกินวันละครั้ง (นอกจากโคขุน) เพราะถ้าให้หลายครั้งโดยให้ครั้งละน้อยๆ โคบางตัวจะแย่งกินอาหารไม่ทัน การให้อาหารควรให้เวลาเดียวกันอย่างสม่ำเสมอ การเปลี่ยนเวลาให้อาหารอาจทำให้ระบบทางเดินอาหารของโคผิดปกติอย่างรุนแรงได้

การให้แร่ธาตุเสริม
แร่ธาตุทำให้สัตว์เจริญเติบโต และทำให้การทำงานของร่างกายและระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ การให้อาหารแร่ธาตุอาจทำได้ดังนี้
1) แร่ธาตุก้อน  มีบริษัทต่างๆ ทำอาหารแร่ธาตุก้อนสำหรับโคกระบือขาย ทำเป็นก้อนทรงกลมหรือสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สำหรับวางหรือแขวนไว้ให้สัตว์เลียกิน ขนาดก้อนละ 2 ก.ก. ราคาประมาณ 30 - 50 บาท แร่ธาตุแบบนี้ใช้ได้สะดวก
2) แร่ธาตุผล ผู้เลี้ยงอาจผสมแร่ธาตุผงตั้งไว้ให้โคเลียกิน หรือใช้ผสมในอาหารข้นสูตรที่แนะนำโดยกองอาหารสัตว์ กรมปศุสัตว์ ดังนี้
1.กระดูกป่น 50 ส่วน
2.เกลือป่น 50 ส่วน
3.จุนสีป่น 1 ส่วน
4.โคบอลซัลเฟต 0.06 ส่วน
ถ้าหาจุนสีและโคบอลซัลเฟตไม่ได้จะใช้กระดูกป่นและเกลือป่นอย่างละครึ่งก็ใช้ได้ แร่ธาตุผงมีข้อเสียคือ อาจหกเสียหายหรือถูกน้ำละลายได้ง่าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น