พันธุ์โคเนื้อ

    การพัฒนาพันธุ์โคเนื้อภายใต้การกำกับดูแลของกองบำรุงพันธุ์สัตว์ในระยะแรกนั้น ได้ใช้วิธีการทดสอบสมรรถภาพการเจริญเติบโต การคัดเลือกพันธุ์ ใช้อัตราส่วนน้ำหนักของโคคัดเลือก ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันจึงได้ปรับเปลี่ยนวิธีการคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์สัตว์โดยใช้คุณค่าการผสมพันธุ์ (Estimated Breeding Value, EBVs) ร่วมด้วย ซึ่งทำให้การปรับปรุงพันธุ์มีความก้าวหน้าและมีความแม่นยำในการคัดเลือกมากยิ่งขึ้น

1. โคพันธุ์พื้นเมือง (Native Cattle) โคขาวลำพูน   โคลาน   โคอีสาน   โคใต้

โคพื้นเมืองนับว่าเป็นสัตว์เลี้ยงมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ อยู่คู่กับวิถีชีวิตคนไทยมาช้านาน แม้เกษตรกรส่วนใหญ่จะมองข้ามความสำคัญของโคพื้นเมืองโดยได้ขายโคออกไปหรือนิยมนำโคพันธุ์อื่นๆ มาผสมเพื่อคาดหวังให้ได้ผลผลิตที่ดีกว่า เพราะเหตุผลข้อด้อยเพียงด้านเดียวของโคพื้นเมือง คือ มีลำตัวขนาดเล็ก โตช้า จึงมองข้ามข้อดีของโคพื้นเมืองไป เช่น การให้ลูกดก ความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศร้อนและสภาพการจัดการเลี้ยงดูที่ไม่ค่อยดี(แร้นแค้น) การทนต่อโรคและพยาธิในเขตร้อน เป็นต้น

2. โคพันธุ์บราห์มัน (Brahman) โคบราห์มันเทา  โคบราห์มันแดง

โคบราห์มัน จัดเป็นโคเนื้อในเขตร้อน Bos indicus มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศอินเดีย โดยคำว่าบราห์มัน เชื่อว่ามาจากคำว่า Bramini ซึ่งเป็นประเพณีทางศาสนาพราหมที่มีพ่อโคศักดิ์สิทธิ์ชื่อพราหมณี โดยโคบราห์มันเป็นโคที่พัฒนาพันธุ์มาจากพันธุ์ดั้งเดิมของโคเมืองร้อนหลายพันธุ์ได้แก่ พันธุ์ Guzerat, Nellore หรือ Ongole, Gir, Krishna และ Valley เป็นต้น ซึ่งโคเหล่านี้เป็นพันธุ์โคเมืองร้อนที่นิยมเลี้ยงกันในทั่วทุกภูมิภาคของโลก ใช้เป็นโคอเนกประสงค์ทั้งในแง่ของการผลิเป็นโคพันธุ์ท้ โคลูกผสมโคเนื้อหรือโคนม โดยใช้เป็นแม่พื้นฐานในการสร้างสายพันธุ์โคพันธุ์ใหม่

3. โคพันธุ์ตาก (Tak Beef Cattle)
กรมปศุสัตว์ได้มีโครงการสร้างโคพันธุ์ตาก เพื่อเป็นโคที่ให้เนื้อคุณภาพสูง มีการเจริญเติบโตดี โดยการนำเอาข้อดีของโคทั้ง 2 พันธุ์เข้ามารวมไว้ในพันธุ์เดียวกัน พันธุ์แรกที่ใช้คือ "โคพันธุ์ชาร์โรเลส์(Charolais)" ซึ่งเป็นโคยุโรปที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ให้เนื้อคุณภาพดี เปอร์เซ็นต์ซากสูง พันธุ์ที่ 2 คือ "โคพันธุ์ไทยบราห์มัน(Thai Brahman)" ซึ่งเป็นโคเลือดอินเดียที่มีความดีเด่นเรื่องการทนร้อน ทนโรค และแมลงได้ดี โดยคาดหวังว่าโคพันธุ์ตากจะเป็นโคพันธุ์ใหม่ ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตโคเนื้อของประเทศไทย โดยเฉพาะในธุรกิจโคขุนได้เป็นอย่างดี
4. โคพันธุ์กบินทร์บุรี (Kabinburi Beef Cattle)
โคพันธุ์ใหม่ของกรมปศุสัตว์ โดยกองบำรุงพันธุ์สัตว์ได้ทำการศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแม่โคพันธุ์ไทยบราห์มัน(Thai Brahman) ซึ่งเป็นโคเลือดอินเดียที่มีความดีเด่นเรื่องการทนร้อน ทนโรค และแมลงได้ดี และน้ำเชื้อพ่อโคพันธุ์ซิมเมนทอล(Simmental) ชั้นเยี่ยมจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นโคยุโรปที่มีลักษณะกึ่งเนื้อและกึ่งนม จากนั้นทำการผสมและคัดเลือกพันธุ์โคในฝูงให้มีระดับสายเลือดของโคพันธุ์ไทยบราห์มัน 50% และโคพันธุ์ซิมเมนทอล 50% โดยใช้วิธีการผสมพันธุ์ภายในฝูง(Inter se mating) คัดเลือกสัตว์ที่มีความดีเด่นในด้านความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยได้ เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีความสมบูรณ์พันธุ์สูง ให้ผลผลิตน้ำนมคุณภาพดี และให้เนื้อที่มีคุณภาพดี คือ ให้ทั้งเนื้อและนม เหมาะสมที่จะนำไปเผยแพร่ขยายพันธุ์ให้เป็นทางเลือกหนึ่งแก่เกษตรกรทั่วไป
5. โคทาจิมะ (Tajima Cattle)
โคทาจิมะ เป็นโคที่เนื้อแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อสันมีไขมันแทรกมาก (Marbling) ทำให้มีลายเนื้อคล้ายหินอ่อน ซึ่งลักษณะที่กล้ามเนื้อมีไขมันแทรกมาก ทำให้เนื้อมีรสชาดดี เนื้อนุ่ม ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อโคทาจิมะ เป็นเนื้อโคที่มีสัดส่วนของกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวสูง ทำให้เนื้อสเต๊กไม่เป็นไข และเป็นไขมันชนิดที่มีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ลักษณะการมีไขมันแทรกสูง มีปัจจัยสำคัญเนื่องจากพันธุกรรม ชนิดของอาหาร อายุ และวิธีการขุน แต่สำหรับโคทาจิมะภายใต้การเลี้ยงด้วยหญ้าคุณภาพดีก็สามารถผลิตเนื้อที่มีระดับไขมันแทรกสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงด้วยอาหารหยาบในระดับสูงทำให้สัดส่วนของกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง
6.โคพันธุ์ชาร์โรเล่ส์
มีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส มีสีขาวครีมตลอดตัว รูปร่างมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขาสั้น ลำตัวกว้าง ยาว และลึก มีกล้ามเนื้อตลอดทั้งตัว นิสัยเชื่อง เป็นโคที่มีขนาดใหญ่มาก เพศผู้เมื่อโตเต็มที่หนักประมาณ 1,100 ก.ก. เพศเมีย 700-800 ก.ก.
ข้อดี
1.มีการเติบโตเร็ว ซากมีขนาดใหญ่ เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก (marbling) เป็นที่ต้องการของตลาดเนื้อโคคุณภาพดี
2.เหมาะที่จะนำมาผสมกับแม่โคบราห์มันหรือลูกผสมบราห์มันเพื่อนำลูกมาเลี้ยงเป็นโคขุน
ข้อเสีย 
1.ถ้าเลี้ยงเป็นพันธุ์แท้หรือมีสายเลือดสูงๆ จะไม่ทนต่อสภาพอากาศในบ้านเรา
2.ไม่เหมาะที่จะใช้ผสมกับแม่โคขนาดเล็ก เพราะอาจทำให้คลอดยาก
7.โคพันธุ์ซิมเมนทัล
มีถิ่นกำเนิดในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นิยมเลี้ยงกันในประเทศยุโรป ในเยอรมันเรียกว่าพันธุ์เฟลคฟี (Fleckvieh) ได้รับการปรับปรุงพันธุ์เป็นโคกึ่งเนื้อกึ่งนม ในประเทศสหรัฐอเมริกานำไปคัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นโคเนื้อ ลำตัวมีสีน้ำตาลหรือแดงเข้มไปจนถึงสีฟางหรือเหลืองทองและมีสีขาวกระจายแทรกทั่วไป หน้าขาว ท้องขาว และขาขาว เป็นโคขนาดใหญ่ โครงร่างเป็นสี่เหลี่ยม ลำตัวยาว ลึก บั้นท้ายใหญ่ ช่วงขาสั้นและแข็งแรง เพศผู้โตเต็มที่หนักประมาณ 1,100-1,300 ก.ก. เพศเมีย 650-800 ก.ก.
ข้อดี
1.มีการเติบโตเร็ว ซากมีขนาดใหญ่ เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก (marbling) เป็นที่ต้องการของตลาดเนื้อโคคุณภาพดี
2.เหมาะที่จะนำมาผสมกับแม่โคบราห์มันหรือลูกผสมบราห์มันเพื่อนำลูกมาเลี้ยงเป็นโคขุน เพศเมียสามารถใช้รีดนมได้
ข้อเสีย 
1.ถ้าเลี้ยงเป็นพันธุ์แท้หรือมีสายเลือดสูงๆ จะไม่ทนต่อสภาพอากาศในบ้านเรา
2.ไม่เหมาะที่จะใช้ผสมกับแม่โคขนาดเล็ก เพราะอาจทำให้คลอดยาก
3.เนื่องจากเนื้อมีสีแดงเข้ม เมื่อเลี้ยงเป็นโคขุนอาจะไม่น่ากินเท่ากับพันธุ์ชาร์โรเล่ส์
8.โคพันธุ์ฮินดูบราซิล
เป็นโคที่มีเชื้อสายโคอินเดียเช่นเดียวกับโคบราห์มัน แต่ปรับปรุงพันธุ์ที่ประเทศบราซิล สีมีตั้งแต่สีขาวจนถึงสีเทาเกือบดำ สีแดง แดงเรื่อๆ หรือแดงจุดขาว หน้าผากโหนกกว้างค่อนข้างยาว หูมีขนาดกว้างปานกลางและห้อยยาวมาก ปลายใบหูมักจะบิด เขาแข็งแรงมักจะเอนไปด้านหลัง หนอกมีขนาดใหญ่ ผิวหนังและเหนียงหย่อนยานมาก เป็นโคที่มีขนาดใหญ่และค่อนข้างสูง เพศผู้โตเต็มที่หนักประมาณ 900-1,200 ก.ก. เพศเมีย 600-700 ก.ก.
ข้อดี  
1.เป็นโคทนร้อน ปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศบ้านเราได้
2.ทนต่อโรคและแมลง
ข้อเสีย 
1.ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงเป็นโคเนื้อที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นโคขนาดใหญ่ สร้างกล้ามเนื้อช้า ผู้เลี้ยงโคขุนจึงไม่นิยมนำไปเลี้ยงขุน อาจเป็นเพราะในบ้านเราในอดีตนิยมเลี้ยงตัวที่มีลักษณะสวยงาม เช่น หูยาว หน้าผากโหนกกว้าง แทนที่จะเลือกโคที่โตเร็ว การส่งเสริมให้เลี้ยงโคพันธุ์นี้มากขึ้นจะเป็นการทำลายเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจไปแย่งทรัพยากรที่ควรใช้ในการเลี้ยงโคพันธุ์อื่นที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า
2.การเลี้ยงต้องเอาใจใส่ดูแลพอสมควร ไม่เหมาะที่จะนำไปปล่อยเลี้ยงในป่าหรือปล่อยทุ่งโดยไม่ดูแลเอาใจใส่
9.โคพันธุ์เดร้าท์มาสเตอร์
เป็นโคพันธุ์ใหม่ที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ในประเทศออสเตรเลีย กรมปศุสัตว์เคยนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยง ขณะนี้ยังคงมีเลี้ยงในฟาร์มเอกชนบางแห่ง เป็นโคลูกผสมที่มีสายเลือดโคพันธุ์บราห์มัน 3/8-1/2 พันธุ์ชอร์ทฮอร์น 1/2-5/8 และพันธุ์เฮียฟอร์ดอยู่เล็กน้อย มีสีแดง มีทั้งมีเขาและไม่มีเขา มีตระโหนกเล็กน้อยตรงหัวไหล่ มีเหนียงหย่อนเล็กน้อย ลำตัวลึกเรียบ ทนแล้งและอากาศร้อนชื้น ทนโรคเห็บ การเจริญเติบโตเร็ว เปอร์เซ็นต์ซากและคุณภาพซากดี